“The HBS Difference” – อ้าวแล้ว MBA ที่ Harvard มันแตกต่างจากที่อื่นยังไงเหรอ

A: “เฮ้ย Harvard มันเป็นอันดับหนึ่ง ต้องดีที่สุดอยู่แล้ว”

B: “ไม่สนอ้ะ อยากเข้า Stanford มากกว่า รู้สึกมันใช่กว่า”

C: “Harvard ดูยากอ่ะ ไม่กล้าเข้า”

นิก: แล้วสิ่งที่มันแตกต่างกับที่อื่นล่ะ มีตรงไหนบ้าง

A B C: เอ่อ….

ตอนนี้ก็ใกล้ถึงช่วงสมัคร MBA รอบแรกอีกแล้ว ใครที่กำลังดูๆอยู่ว่า HBS มันต่างกับที่อื่นยังไงบ้าง ต้องอ่านเลย ไอ้สิ่งที่จะเล่าให้ฟังพวกนี้ รู้ว่ามันมีตั้งแต่ก่อนจะเข้าไปเรียนแล้ว หาข้อมูลได้ง่ายๆ แต่ที่ไม่รู้ก็คือมันจะมีผลต่อประสบการณ์เรายังไงน่ะสิ

Case Method
อย่างแรกเลยที่ต้องพูดถึงคือ การใช้ case method ในการสอนสำหรับวิชาหลักทุกวิชา ทุกคลาส จบปีหนึ่งนี่คือผ่านไปราวๆ 250 เคส คะแนนหลักๆมาจากการมีส่วนร่วมในห้องเรียน (participation) 50% กับ สอบไฟนอลอีก 50% บางวิชามี assignment หรือ ควิซบ้าง ต่างกับที่อื่น (ส่วนใหญ่) ที่จะสอนด้วยหลายวิทีปนๆกัน ทั้ง เคส, lecture และ ทำงานกลุ่ม เพราะฉะนั้น การที่จะต้องสื่อข้อความบางอย่าง ให้กระชับและน่าเชื่อถือ โดยที่บางทีเราเองก็ไม่ได้มั่นใจ เป็นอะไรที่ได้ฝึกเต็มๆเลย

Standardized Schedule
ทุกคนเรียนวิชาบังคับเหมือนกันหมดทุกวิชาตลอดทั้งปี1 HBS น่าจะมีวิชาบังคับเยอะที่สุดแล้วล่ะ แล้วตารางวิชาในแต่ละวันจะมีวิชาเดียวๆกัน เค้าเลยออกแบบได้ ว่าเมื่อไหร่ นักเรียนจะเข้าใจ concept อะไรไปแล้วบ้าง ซึ่งส่งผลต่อสิ่งที่สอนในวิชาอื่น การเรียนในแต่ละวิชาเลยสอดคล้องกัน ไม่มีการเรียนอะไรที่ทับซ้อน ซ้ำซาก แล้วทำให้เอาเรื่องที่เรียนในแต่ละวิชามาผสมข้ามคลาสได้ (อย่างที่เคยเขียนไปแล้ว) แต่แน่นอนว่าที่เลือกคลาสไม่ได้เลย มันก็จะทำให้เราต้องเรียนเรื่องที่เราอาจจะไม่ได้สนใจ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าดีหรือไม่ดีเสมอไป

Academics Focus
อีกอย่างคือ Harvard เค้าบังคับให้นักเรียนจริงจังกับการเรียนในห้องเรียนมากกว่าที่อื่นๆ ซึ่งหลายทีดูเรียนชิลๆกว่าเรา เรียนแค่อาทิตย์ละ 4 วัน ส่วนเราเรียน 5 วันเน้นๆ แถมเทอมแรกมีบังคับให้มี discussion group ซึ่งคือนักเรียน 6 คน ที่จะต้องมาเจอกันทุกเช้าก่อนเรียน เพื่อคุยเรื่องเคสที่จะเรียนในวันนั้น บางทีก็ไม่ได้รู้สึกอยากจะเตรียมตัวไปคลาสขนาดนั้น แต่ถ้าเราไม่เตรียมตัว เพื่อนๆใน  discussion group ก็จะรู้ ตอนท้ายเทอม ทุกคนจะให้คะแนนกันและกัน แต่ความจริงนั่นไม่ใช่ประเด็นหลัก ความรู้สึกส่วนตัว และจากการที่คุยกับเพื่อนๆหลายๆคนก็คือ ไม่ได้กลัวคะแนนไม่ดี แต่ “ละอาย” ที่เราไม่ได้เตรียมตัวไป ทั้งๆที่คนอื่นเค้าพร้อม วิธีสุดท้ายที่ทำให้เราตั้งใจเรียน ก็คือการ cold call ซึ่งคือการที่อาจารย์เรียกนักเรียนให้ตอบ ทั้งๆที่นักเรียนไม่ได้ยกมือ ถ้าโดนแล้วตอบไม่ดีนี่ก็เสียคะแนน participation แน่นอน แถมขายหน้าเพื่อนทั้งห้อง

Section Experience
สุดท้าย สิ่งที่นิกคิดว่าทำให้ประสบการณ์ปีหนึ่งของที่นี่เนี่ย แตกต่างกับที่อื่นมากที่สุด คือ ระบบ Section ซึ่งคือการที่เราเรียนห้องเดียวกับคนกลุ่มเดิม 93-94 คน ตลอด “ทั้งปี ทุกคลาส” ที่อื่นๆก็มีการแบ่งห้องแบบนี้ แต่ไม่มีที่ไหนที่ให้เราได้อยู่ด้วยกันเยอะขนาดนี้ ทำให้สำหรับคนส่วนมาก (รวมถึงนิกเอง) เพื่อนๆ จาก Section นี่แหละจะเป็นกลุ่มเพื่อนที่สนิทที่สุด ไอ้เก้าสิบกว่าคนเนี่ย เค้าไม่ได้สุ่มๆมาเฉยๆ แต่เค้าแบ่งให้แต่ละ Section มีความหลากหลาย ทั้งเพศ ประสบการณ์ทำงาน การเรียน เชื้อชาติ และ ประเทศบ้านเกิด ทำให้เรามีเพื่อนใกล้ๆตัวที่ “แตกต่าง” ถึงแม้ภายใน section เราก็มักจะสนิทกับคนที่คล้ายเรามากกว่า แต่ส่วนที่อื่นๆ ที่ไม่ได้มี Section ที่แน่นเหมือนที่ Harvard เนี่ย ก็มักจะเกาะกลุ่มกับเพื่อนที่คล้ายๆกัน ยกตัวอย่าง คนไทย ในหลายๆที่ก็จะมักสนิทกับพวกแก๊งคน Asian แล้วก็เกาะเป็นกลุ่ม อย่างเช่นในนรูปแบบ Asian Business Club ไม่ใช่ว่า Harvard ไม่มีชมรมแบบนี้ แต่ว่าความสำคัญของชมรมพวกนี้นี่จะน้อยกว่าที่อื่นเยอะ จัด event ไม่ค่อยบ่อย เพราะคนส่วนมากติดเพื่อน Section

แล้วกิตติศัพท์ของ Harvard ที่ว่ามีแต่พวกชอบการแข่งขัน หยิ่ง อีโก้แรง เนี่ย มันไม่ได้แย่เท่าที่คาดไว้เลย มีคนนิสัยดีๆ ชิลๆ อยู่เยอะแยะ

HBS Bubble
HBS อยู่บอสตัน ซึ่งเป็นเมืองใหญ่พอสมควร แต่ตัว campus ของ business school เอง ค่อนข้างใหญ่และ isolate จากตัวเมืองระดับนึง เหมือนเป็นอาณาจักรของตัวเอง คนส่วนมากอาศัย on-campus (นิกเองนอนหอเดี่ยว ใกล้กว่านี้ไม่มีแล้ว มีอุโมงค์ไปถึงห้องเรียน) ไม่ก็บริเวณใกล้เคียง ประกอบกับการเรียนที่ค่อนข้างหนัก และสังคมภายในนักเรียนด้วยกันแน่น อาจจะทำให้เกิดอาการตัดขาดจากโลกภายนอก หรือที่เรียกว่า HBS bubble

ใครกำลังเลือกอยู่ว่าอยากสมัครเรียนที่ไหน ศึกษาดีๆ อย่าตั้งคำถามว่าว่าที่ไหนดีที่สุด แต่ให้ถามว่าที่ไหน “เหมาะ” กับเราที่สุด

Leave a comment